สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1602  เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

วรรคสอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๖๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับแก่ทายาทของบุคคลนั้น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560 ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2558 ในคดีก่อน ส.ฟ้องทายาทของร้อยตำรวจโท ค. เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก และมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ ส่วนวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกจะถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่คู่ความในคดีดังกล่าวต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี หาใช่นำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ เมื่อการประมูลทรัพย์มรดกเป็นการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิม หากไม่ถูกต้องโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ต้องไปโต้แย้งในชั้นบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีใหม่ ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งมรดกจึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่โจทก์อ้างว่ายังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นด้วย กองมรดกที่ตกทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1602 ถือเป็นการได้ทรัพย์มาโดยอาศัยสิทธิอันเดียวกัน มิใช่เป็นการได้มาโดยอาศัยสิทธิในทรัพย์แต่ละชิ้นเป็นสิทธิต่างรายกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในส่วนดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วยเช่นกัน